แรงดันฉีดและความเร็วฉีดที่ต้องใช้ จะขึ้นอยู่กับชนิดของพลาสติกที่ใช้ฉีดและสภาพของการฉีด แรงดันฉีดจะตั้งโดยแรงดันไฮดรอลิกส์(สำหรับเครื่องไฮดรอลิกส์) สำหรับเครื่องไฟฟ้าที่ใช้เซอโวมอเตอร์อาจไม่จำเป็นต้องตั้งกำลังฉีดเนื่องจากเครื่องจะทำการควบคุมที่ความเร็วของการฉีดให้เป็นตามที่กำหนดโดยค่าแรงดันฉีดจะเปลี่ยนแปลงอัตโนมัติ การตั้งค่าแรงดันฉีดเครื่องไฟฟ้าที่ใช้เซอโวมอเตอร์จะเปลี่ยนเป็นค่าการลิมิตสูงสุดที่ใช้ในการฉีด เมื่อฉีดจบจะเปลี่ยนเป็นการโฮล(Hold) แรงดันโฮลจะใช้หลังการฉีดซึ่งจะต้องมากพอเพื่อที่จะฉีดพลาสติกเข้าสู่โพรงแม่พิมพ์ได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป
เพื่อชดเชยการยุบตัวของพลาสติกที่เย็นตัวลงซึ่งในช่วงโฮลนี้จะใช้การควบคุมแรงดันเป็นหลักร่วมกับเวลาไม่มีการควบคุมความเร็ว แรงดันโฮลนี้อาจจะแตกต่างกันสำหรับแม่พิมพ์ชุดเดียวกัน ขึ้นอยู่กับความเร็วฉีด อุณหภูมิของน้ำพลาสติก และรูปร่างของหัวฉีด

การตั้งความเร็วฉีดต้องสัมพันธ์กับขนาดและรูปร่างของชิ้นงาน และควรมีความเร็วสูงเพื่อป้องกันไม่ให้พลาสติกเย็นตัวก่อนที่จะไหลเข้าจนเต็มแม่พิมพ์
แต่หากความเร็วฉีดสูงเกินไปจะทำให้พลาสติกที่ไหลผ่านเกทซึ่งเป็นรูขนาดเล็กเกิดความร้อนมากขึ้นจนเกิดเป็นรอยไหม้
แรงดันฉีดต้องสูงพอที่จะแน่ใจได้ว่าจะไม่ทำให้ความเร็วฉีดลดต่ำกว่าค่าที่ตั้งไว้ระหว่างกระบวนการฉีดทั้งหมด(การตรวจสอบความเร็วฉีดและแรงดันฉีดสามารถตรวจสอบได้จากกราฟแสดงการฉีดในแต่ละไซเคิลซึ่งบางเครื่องจะมีฟังชันนี้ให้) ถ้าความเร็วฉีดลดลงไปเรื่อยๆจนถึงสิ้นสุดการฉีด แสดงว่าแรงดันฉีดต่ำเกินไปต้องเพิ่มแรงดันฉีดขึ้น การปรับความเร็วฉีดเพิ่มขึ้นควรปรับแรงดันฉีดให้สูงขึ้นเพียงพอกับการใช้งานของความเร็วที่เพิ่มขึ้น ในการใช้งานเราสามารถตั้งแรงดันฉีดให้สูงกว่าความต้องการใช้งานได้(สำหรับเครื่องไฮดรอลิกส์) ซึ่งไม่มีผลในช่วงของการฉีด แต่แรงดันฉีดจะมีผลในช่วงที่พลาสติกเข้าจนเต็มแม่พิมพ์แล้วแรงดันฉีดสูงจะทำให้เกิดการแลบของชิ้นงานได้ การปรับแรงดันฉีดควรปรับเปลี่ยนในช่วงเวลาหรือระยะที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเกิด Overpacking หรือเกิดการแลบของชิ้นงานในโพรงของแม่พิมพ์นั่นคือในจังหวะที่สุดท้ายก่อนฉีดเต็มต้องมีการลดความเร็วและแรงดันฉีดลงแล้วใช้การควบคุมที่แรงดันโฮลแทน